การศึกษาจัดทำรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม
รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA)
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment : EIA) หมายถึง การประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ โดยข้อดีของ EIA คือ ช่วยหาทางป้องกันผลกระทบในทางลบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในโครงการนั้นให้เกิดน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อย่างมีประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ รายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจของนักบริหารหรือผู้ประกอบการว่าสมควรดำเนินโครงการนั้นต่อหรือไม่
การจัดทำ EIA เป็นการศึกษาครอบคลุมระบบสิ่งแวดล้อม 4 ด้าน ได้แก่
- ทรัพยากรกายภาพ เป็นการศึกษาถึงผลกระทบ เช่น ดิน น้ำ อากาศ เสียง ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
- ทรัพยากรชีวภาพ การศึกษาถึงการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ที่มีต่อระบบนิเวศน์ เช่น ป่าไม้ สัตว์ป่า สัตว์น้ำ ปะการัง เป็นต้น
- คุณค่าการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เป็นการศึกษาถึงการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรทั้งทางกายภาพ และชีวภาพของมนุษย์ เช่น การใช้ประโยชน์ที่ดิน การคมนาคมขนส่ง การใช้น้ำ
การใช้ไฟฟ้า การจัดการขยะมูลฝอยและสิ่งปฏิกูล การบำบัดน้ำเสีย การระบายน้ำ เป็นต้น - คุณค่าต่อคุณภาพชีวิต จะเป็นการศึกษาถึงผลกระทบที่จะเกิดต่อมนุษย์ ชุมชน ระบบเศรษฐกิจ การประกอบอาชีพ วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ค่านิยม รวมถึงทัศนียภาพ คุณค่า ความสวยงาม
รายงานเกี่ยวกับการศึกษาและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (IEE)
สืบเนื่องจากกระทรวงอุตสาหกรรม กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการบางประเภท จะต้องจัดทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษาและมาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อม ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง หลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตประเภทหรือชนิดของโรงงาน ลำดับที่ 105 และลำดับที่ 106 และระเบียบกรมโรงงานอุตสาหกรรม ว่าด้วยเรื่องรายละเอียดหลักเกณฑ์การพิจารณาอนุญาตประเภทหรือชนิดของโรงงาน ลำดับที่ 105 และลำดับที่ 106 พ.ศ. 2545 ให้กรมโรงงานอุตสาหกรรมพิจารณาพร้อมกับการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน
รายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice Report : CoP Report)
ผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าที่เข้าข่ายต้องปฏิบัติตามประมวลหลักการปฏิบัติ (Code of Practice) ซึ่งคณะกรรมการกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศกำหนดไว้ตามระเบียบหรือประกาศ กกพ. ว่าด้วยมาตรการป้องกัน แก้ไข และติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประเภทเชื้อเพลิงและเทคโนโลยีเป็นการเฉพาะ และผู้ขอรับใบอนุญาตผลิตไฟฟ้าต้องยื่นรายงานประมวลหลักการปฏิบัติ (CoP Report) ต่อสำนักงาน กกพ. เพื่อประกอบการขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการผลิตไฟฟ้า หรือขออนุญาตขยายกำลังการผลิตไฟฟ้า
โดยในรายงานประมวลหลักการปฏิบัติประกอบด้วย มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมตั้งแต่ระยะเตรียมการโครงการ ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ ตลอดจนมีการรื้อถอนอาคารบางส่วนหรือทั้งหมด รวมทั้งการดำเนินการ และผลการจัดรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย
โดยในรายงานประมวลหลักการปฏิบัติประกอบด้วย มาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบสิ่งแวดล้อม และมาตรการติดตามตรวจสอบผลกระทบสิ่งแวดล้อม ให้ครอบคลุมตั้งแต่ระยะเตรียมการโครงการ ระยะก่อสร้าง และระยะดำเนินการ ตลอดจนมีการรื้อถอนอาคารบางส่วนหรือทั้งหมด รวมทั้งการดำเนินการ และผลการจัดรับฟังความเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย
รายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย (ESA)
ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง การทำรายงานเกี่ยวกับการศึกษามาตรการป้องกันและแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย พ.ศ. 2552 กำหนดให้ผู้ขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือใบอนุญาตขยายโรงงานตามประเภทหรือชนิดของโรงงานดังบัญชีท้ายประกาศ ต้องจัดทำรายงานการศึกษาและมาตรการป้องกันแก้ไขผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย พร้อมกับการยื่นคำขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน หรือคำขอรับใบอนุญาตขยายโรงงาน แล้วแต่กรณี โดยให้โรงงานในเขตกรุงเทพมหานครยื่นต่อกรมโรงงานอุตสาหกรรม ส่วนโรงงานในจังหวัดอื่นให้ยื่นต่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดท้องที่ที่โรงงานตั้งอยู่
การจัดทำรายงาน จะทำให้ทราบข้อมูลผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและระดับความรุนแรงของการประกอบกิจการโรงงาน เพื่อที่จะได้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขเพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จะได้ประเมินและวิเคราะห์อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากโรงงานในแต่ละด้าน เพื่อที่จะได้จัดทำมาตรการควบคุมและป้องกันหรือแก้ไขเพื่อลดผลกระทบจากประเมินและวิเคราะห์อันตรายที่อาจทำให้เกิดอันตรายถึงชีวิต ทุพพลภาพ ไฟไหม้ ระเบิด สารเคมีหกรั่วไหล รวมทั้งจัดให้มีระบบป้องกัน ระงับอัคคีภัย และแผนฉุกเฉิน โดยจัดให้มีระบบบริหารจัดการด้านความปลอดภัย เพื่อจัดทำแผนงาน และติดตามผลการดำเนินงาน